ระบบรายงานข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ
จากโรงงานที่มีการถือครองสารเคมีเป้าหมาย
เข้าสู่ระบบการายงาน
รหัสประจำตัวผู้ใช้
รหัสผ่าน

ลืมรหัสผ่าน |ลงทะเบียน
 
 
ข่าวประชาสัมพันธ์

ค่า Emission Factor สารไดออกซิน/ฟิวแรน...

ขอความร่วมมือจัดทำรายงานการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษภายใต้ระบบ PRTR..

รายละเอียดโครงการและแบบฟอร์ม.

 

 


การสัมนา/การฝึกอบรม

การจัดอบรมวิธีการประเมินการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ PRTR สำหรับผู้ประกอบการโรงงาน

 


PRTR ประเทศไทย
นิยามที่ควรรู้เกี่ยวกับทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ
"ทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ" (Pollutant Release and Transfer Registers: PRTR) 
หมายถึง ระบบฐานข้อมูลที่เผยแพร่สู่สาธารณชนเกี่ยวกับชนิดและปริมาณของมลพิษเป้าหมายที่มีการปลดปล่อยจากแหล่งกำเนิดเป้าหมาย
ประเภทต่างๆ สู่ตัวกลางสิ่งแวดล้อมทั้งอากาศ ดิน น้ำ รวมถึงข้อมูลการนำน้ำเสียและของเสียออกจากแหล่งกำเนิดไปบำบัดหรือกำจัด 

    

 
  แหล่งกำเนิดมลพิษเป้าหมาย (target sources) หมายถึง แหล่งกำเนิดมลพิษที่ถูกกำหนดขึ้นภายใต้ระบบทำเนียบการปลดปล่อย
และเคลื่อนย้ายมลพิษให้เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษเป้าหมายที่เข้าข่ายต้องรายงานข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษให้กับหน่วย
งานราชการ และ แหล่งกำเนิดที่หน่วยงานราชการเป็นผู้รับผิดชอบในการคาดประมาณการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ 
 
   
 

 
  มลพิษเป้าหมาย (target substances/pollutants) หมายถึง รายชื่อสารเคมี กลุ่มสารเคมี หรือ มลพิษ 
ที่ถูกกำหนดขึ้นภายใต้ระบบทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ 

 
 

สารเคมีหรือมลพิษภายใต้ระบบ PRTR  จำแนกได้ 3 กลุ่ม

  • สารเคมี เช่น benzene, toluene, formaldehyde
  • กลุ่มสารเคมี เช่น ตะกั่วและสารประกอบตะกั่ว
  • มลพิษ เช่น NOx, SOx
สารเคมี/มลพิษนอกเหนือจากบัญชีที่ PRTR กำหนด ไม่ต้องมีการรายงานข้อมูล
 
     
  การปลดปล่อย (release) หมายถึง การปล่อย ระบาย ทิ้ง หก รด รั่วไหล ของสารเคมี มลพิษ อากาศเสีย น้ำเสีย หรือ ของเสีย จากแหล่งกำเนิด
ออกสู่สิ่งแวดล้อมทั้งโดยจงใจ หรือไม่จงใจ 

 
   



 
  การเคลื่อนย้าย (transfer) หมายถึง การนำน้ำเสียหรือของเสียที่มีมลพิษเป้าหมายเป็นองค์ประกอบ ออกจากแหล่งกำเนิดมลพิษเป้าหมาย
ไปบำบัด หรือกำจัดยังสถานที่บำบัดหรือกำจัด
 
 
  ตัวกลางสิ่งแวดล้อม (environmental media) หมายถึง อากาศ ดิน หรือ น้ำ ซึ่งรองรับมลพิษที่มีการปลดปล่อยออกจากแหล่งกำเนิด  
     
  เกณฑ์การรายงานข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (reporting criteria/threshold) หมายถึง เกณฑ์ที่กำหนดขึ้นเพื่อ
ใช้พิจารณาว่าแหล่งกำเนิดมลพิษเป้าหมายที่เข้าข่ายต้องรายงานข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษเป้าหมาย ต้องรายงานข้อมูลมายัง
ภาครัฐหรือไม่ โดยพิจารณาประเภทของกิจการ ขนาดของกิจการ และปริมาณสารเคมีที่ถือครองร่วมกัน
 
     
  ประเภทของกิจการ ขนาดของกิจการ ปริมาณสารเคมีที่ถือครอง  
  แหล่งกำเนิดมลพิษที่ต้องรายงานข้อมูล (target sources with reporting criteria) หมายถึง แหล่งกำเนิดมลพิษเป้าหมายที่มีประเภท
ของกิจการขนาดของกิจการ และ ปริมาณสารเคมีที่ถือครองเป็นไปตามเกณฑ์การรายงานข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ
 
     
  แหล่งกำเนิดมลพิษที่ไม่ต้องรายงานข้อมูล (target sources without reporting criteria) หมายถึง แหล่งกำเนิดมลพิษเป้าหมายที่ถูก
กำหนดภายใต้ระบบทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษให้หน่วยงานราชการเป็นผู้รับผิดชอบในการคาดประมาณการปลดปล่อยมลพิษ
 
     
  ปริมาณสารเคมีที่ถือครอง (chemical handle) หมายถึง ปริมาณสารเคมีเป้าหมายที่แหล่งกำเนิดมลพิษเป้าหมาย มีการผลิต 
นำเข้า ส่งออก ใช้ หรือ ก่อให้เกิดการปลดปล่อย ในระยะเวลา ๑ ปี หรือ ตามรอบการรายงานข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ
 
     
  คำศัพท์ที่เกี่ยวกับ PRTR ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 มีอะไรบ้าง  
  มลพิษ หมายความว่า ของเสีย วัตถุอันตราย และมลสารอื่น ๆ รวมทั้งกาก ตะกอนหรือสิ่งตกค้างจากสิ่งเหล่านั้น ที่ถูกปล่อยทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษ 
หรือที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ซึ่งก่อให้เกิดหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือภาวะที่เป็นพิษภัยอันตรายต่อสุขภาพ
อนามัยของประชาชนได้ และให้หมายความรวมถึง รังสี ความร้อน แสง เสียง กลิ่น ความสั่นสะเทือน หรือเหตุรำคาญอื่น ๆ ที่เกิดหรือถูกปล่อยออกจาก
แหล่งกำเนิดมลพิษด้วย 

ของเสีย หมายความว่า ขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล น้ำเสีย อากาศเสีย มลสาร หรือวัตถุอันตรายอื่นใด ซึ่งถูกปล่อยทิ้งหรือมีที่มาจากแหล่งกำเนิดมลพิษ 
รวมทั้งกาก ตะกอน หรือสิ่งตกค้างจากสิ่งเหล่านั้น ที่อยู่ในสภาพของแข็ง ของเหลวหรือก๊าซ 

น้ำเสีย หมายความว่า ของเสียที่อยู่ในสภาพเป็นของเหลว รวมทั้งมลสารที่ปะปน หรือปนเปื้อนอยู่ในของเหลวนั้น 

อากาศเสีย หมายความว่า ของเสียที่อยู่ในสภาพเป็นไอเสีย กลิ่นควัน ก๊าซ เขม่า ฝุ่นละออง เถ้าถ่าน หรือมลสารอื่นที่มีสภาพละเอียดบางเบา
จนสามารถรวมตัวอยู่ในบรรยากาศได้ 

วัตถุอันตราย หมายความว่า วัตถุระเบิดได้ วัตถุไวไฟ วัตถุออกซิไดซ์ และ วัตถุเปอร์ออกไซด์ วัตถุมีพิษ วัตถุที่ทำให้เกิดโรค วัตถุกัมมันตรังสี 
วัตถุที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม วัตถุกัดกร่อน วัตถุที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง วัตถุอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นเคมีภัณฑ์ หรือสิ่งอื่นใดที่
อาจทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม 

แหล่งกำเนิดมลพิษ หมายความว่า ชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม อาคาร สิ่งก่อสร้าง ยานพาหนะ สถานที่ประกอบกิจการใด ๆ ซึ่งเป็นแหล่งที่มา
ของมลพิษ
 
     
  วัตถุประสงค์ของการจัดทำ PRTR ในประเทศไทย คืออะไร  
  1. เพื่อเผยแพร่ข้อมูลการจัดการมลพิษจากแหล่งกำเนิดประเภทต่างๆสู่สาธารณชน 
2. เพื่อลดและแก้ไขปัญหาการปลดปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม 
3. เพื่อให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ เกี่ยวกับการจัดการสารเคมีและมลพิษทั้งในและระหว่างประเทศ
  • แผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (50-54)
  • แผนจัดการระดับชาติเพื่อการปฏิบัติตามอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (2550)
  • ยุทธศาสตร์การดำเนินงานระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดการสารเคมี ( SAICM: Strategic Approach to International Chemicals Management )
  • แผนปฏิบัติการ 21 (Agenda 21)
4. เพื่อตรวจติดตาม/ ตรวจสอบมลพิษจากแหล่งกำเนิดประเภทต่างๆ รวมทั้งการกำหนดนโยบายการจัดการสารเคมีและมลพิษของหน่วยงานราชการ
 

PRTR มีความเป็นมาอย่างไร
แนวคิดในการจัดทำ PRTR เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากเกิดเหตุการณ์ระเบิดขึ้นที่โรงงานยูเนี่ยนคาร์ไบด์ที่เมืองโบพาล ประเทศอินเดีย 
เมื่อปี พ.ศ. 2527 และเกิดเหตุสารเคมีรั่วไหลใน รัฐเวสท์เวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้คนงานและชุมชนที่มีโรงงานตั้งอยู่ใกล้เคียง ต่างเรียกร้องให้
โรงงานเปิดเผยข้อมูลการใช้สารเคมีอันตรายให้กับสาธารณชนได้รับทราบ 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 ประเทศสหรัฐอเมริกาจึงได้ออกกฎหมาย Emergency Planning and Community Right-to-Know Act (EPCRA) ขึ้นเพื่อส่งเสริมให้
มีการจัดทำแผนฉุกเฉินและลดผลกระทบอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ และเพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณการปลดปล่อยสารเคมีจากโรงงาน
ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนต่างๆ จากการจัดทำ Toxic Release Inventory (TRI) และระบุถึงปริมาณการปลดปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษสู่สิ่งแวดล้อม ทั้งอากาศ น้ำ ดิน
และการขนส่งของเสียออกนอกสถานประกอบการเพื่อกำจัด โดยมีการรายงานข้อมูลการปลดปล่อยสารเคมีมากกว่า 600 ชนิด 

การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (The United Nations Conference of Environment and Development: UNCED) 
หรือ การประชุมสุดยอดสิ่งแวดล้อมโลก (Earth Summit) ณ นครริโอ เดอจาเนโร ประเทศบราซิล ในปี พ.ศ. 2535 ประเทศต่างๆ ได้ร่วมลงนามรับรอง 
ในแผนปฏิบัติการที่ 21 ซึ่งเป็นแผนแม่บทระดับโลกสำหรับการดำเนินงานที่จะทำให้การพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม 

โดยเนื้อหาของแผนปฏิบัติการที่ 21 ในหลักการ (Principle) ที่ 10 ระบุว่าบุคคลควรมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมรวมถึงวัตถุอันตราย 
และมีโอกาสในการร่วมในกระบวนการตัดสินใจ และแต่ละประเทศควรส่งเสริมความตระหนักและการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยให้ประชาชนรับรู้ 
ข้อมูลข่าวสารให้มากที่สุด และในเนื้อหาบทที่ 19 ได้กล่าวถึงการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ 
บทบาทของภาครัฐในการป้องกันการเกิดมลพิษ 

ทั้งนี้ องค์กรภายใต้องค์การสหประชาชาติ เช่น UNEP, UNITAR, ILO, OECD, WHO รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนต่าง ๆ ได้สนับสนุน 
และเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ มีการจัดทำ Emission Inventories ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนมาใช้คำว่า Pollutant Release and Transfer Registers หรือ PRTR
PRTR มีประโยชน์อย่างไร
ภาครัฐ
  • ทราบสถานภาพ/แนวโน้มการปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมรวมทั้งการเคลื่อนย้าย/การจัดการ 
    สารมลพิษเฉพาะประเภท และ/หรือเฉพาะพื้นที่
  • เป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม การกำหนดแนวทางเพื่อวางแผน
    ป้องกันหรือแก้ไขปัญหามลพิษจากสารอันตราย
  • เป็นการติดตามตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมาย/ความก้าวหน้าของการดำเนินนโยบาย
    ด้านสิ่งแวดล้อม
  • เป็นไปตามข้อกำหนด/ข้อตกลงภายใต้พิธีสาร/อนุสัญญาระหว่างประเทศต่างๆ
  • การวางแผนรองรับเหตุฉุกเฉิน

ภาคอุตสาหกรรม
  • เป็นการปรับปรุงระบบการจัดการสารเคมีภายในโรงงาน ส่งเสริมให้มีการใช้สารเคมีอย่าง
    มีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสียวัตถุดิบในกระบวนการผลิตลดการปลดปล่อยสารมลพิษ
  • เสริมสร้างความรู้/ความปลอดภัยเกี่ยวกับการใช้/การจัดการสารเคมีให้แก่ผู้ประกอบการ
    และคนงาน
  • ส่งเสริมให้มีการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่
  • สร้างภาพลักษณ์ที่ดีกับชุมชน

ภาคประชาชน
  • ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการแก้ไขปัญหามลพิษกับหน่วยงาน
    ภาครัฐ และเอกชน
  • เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลด้านการจัดการมลพิษ สารเคมี และสิ่งแวดล้อม
    ของโรงงาน
  • เป็นเครื่องมือในการป้องกันตนเองจากมลพิษจากแหล่งกำเนิดประเภท โรงงานอุตสาหกรรม 
    และแหล่งกำเนิดอื่นๆ
  • เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับ พนักงานดับเพลิง โรงพยาบาล ตำรวจ หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉิน
    กรณีเกิดเหตุอุบัติภัย เกี่ยวกับสารเคมีในโรงงาน
  • เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการ ป้องกันมลพิษ
    และผลกระทบต่อสุขภาพ
ที่มา ทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้าย PRTR กรมควบคุมมลพิษ